การเลี้ยงกระต่าย ก่อนที่เราจะตัดสินใจว่าอยากเลี้ยงน้องกระต่ายในบ้านหรือนอกบ้าน เราควรทำความเข้าใจและรู้จักธรรมชาติของกระต่ายก่อน หากเราทำการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตก็จะพบข้อมูลเกี่ยวกับเจ้ากระต่ายตัวน้อยมากมายเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมโดยธรรมชาติของเจ้ากระต่าย โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ อาหารการกิน รวมไปถึงที่อยู่อาศัยด้วย
มาดูกันว่าการเลี้ยงกระต่ายในบ้าน หรือนอกบ้านมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงต่างกันอย่างไร
การเลี้ยงกระต่าย ในบ้าน
หากเราเลือกเลี้ยงกระต่ายในบ้าน สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงคือเรื่องของ ‘พื้นที่ในการเลี้ยงดู’ ด้วยเพราะเจ้ากระต่ายเป็นสัตว์ที่ชอบกระโดดและวิ่งไปมา จึงควรเลือกกรงที่มีขนาดใหญ่อย่างน้อย 4 เท่าจากขนาดตัวน้องกระต่าย ให้มีพื้นที่กว้างเพียงพอสำหรับของเล่นและวิ่งเล่นได้ด้วย
โดยกรงควรเป็นพื้นไม้เรียบ ไม่ควรเป็นพลาสติกหรือลวดตาข่าย เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและอาจทำให้เท้าน้องเกิดบาดแผลได้ ที่สำคัญห้ามใช้กรงตู้กระจกเป็นอันขาด เพราะมีอากาศหมุนเวียนไม่เพียงพอ
อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงเรื่อง ‘กลิ่น’ ที่เราจะต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงต้องวางกรงให้อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และอาจมีอุปกรณ์หรือเครื่องมือมาเป็นตัวช่วยในการดับกลิ่น และเก็บอุจจาระอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หรือหากมีเวลาเพิ่มอีกสักหน่อยสามารถเก็บทั้งตอนเช้าและเย็นเป็นประจำทุกวัน เท่านี้ก็สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นไปได้อย่างแน่นอน

การเลี้ยงกระต่าย นอกบ้าน
หากเลือกที่จะเลี้ยงกระต่ายนอกบ้าน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ‘สภาพอากาศ’ จึงต้องเลือกกรงที่มีหลังคาเปิด-ปิดได้ ซึ่งต้องสามารถกันแดด กันฝนและกันลมได้ ซึ่งกรงควรมีขนาด 30 x 36 x 20 นิ้ว สูง 1 ฟุตเป็นอย่างน้อย หรือยิ่งมีขนาดใหญ่ก็ยิ่งดี เพราะน้องจะได้มีพื้นที่ให้วิ่งเล่นมากขึ้น และควรนำฟางหรือหญ้าแห้งมาปูรองพื้นกรง เพื่อให้น้องนอนอย่างสะดวกสบาย ทั้งยังช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้น้องกระต่ายในตอนกลางคืนได้อีกด้วย
กระนั้นเมื่อเลือกที่จะเลี้ยงน้องในบ้านแล้ว ไม่ควรที่จะนำน้องออกไปเลี้ยงนอกบ้าน เพราะกระต่ายเลี้ยงจะเคยชินกับการได้รับอาหารจากเราและสูญเสียสัญชาตญาณและทักษะการหาอาหารเองตามธรรมชาติไป รวมไปถึงสูญเสียการเผชิญหน้ากับการถูกจู่โจ่มจากนักล่าด้วย
การทำความสะอาดหรืออาบน้ำให้น้องกระต่าย
กรณีที่น้องกระต่ายที่มีอายุน้อยกว่า 3 เดือน ควรใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดที่ตัวกระต่ายเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว แต่หากเป็นน้องกระต่ายที่มีอายุมากกว่า 3 เดือน สามารถอาบน้ำได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตามการอาบน้ำให้น้องอาจขึ้นอยู่กับน้องแต่ละตัว โดยปกติแล้วน้องจะทำความสะอาดตัวเองอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว หากน้องไม่ได้สกปรกมากนัก อาจใช้วิธีเช็ดทำความสะอาดและแปรงขนให้สวยงามเพียงเท่านี้ก็พอ หรือหากมีคราบจากปัสสาวะ หรือก้อนอุจจาระติดขน ให้เราตัดเล็มออกและระวังอย่าให้โดนหนังเด็ดขาด
แต่ในกรณีที่คราบติดแน่นจนไม่สามารถเช็ดออกได้ ให้พาน้องอาบน้ำ หรือหากไม่สามารถจัดการเองได้ ควรพาน้องมาอาบน้ำ ตัดขนที่คลินิก หรือโรงพยาบาลสัตว์ ไม่ควรปล่อยทิ้งให้ขนพันติดกันจนแน่น เพราะอาจติดพันมากขึ้นจนกลายเป็นก้อนใหญ่

เมื่อเราเลี้ยงกระต่ายก็ไม่ควรปล่อยให้เหงา
ในช่วงแรงที่รับน้องกระต่ายมาเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงใบน้านหรือนอกบ้าน ควรปล่อยให้น้องได้ปรับตัวกับสถานที่ใหม่ก่อน ไม่รบกวนหรืออุ้มระหว่างที่น้องกำลังสำรวจบ้านใหม่ เมื่อเวลาผ่านไปสักพักหนึ่งจนสังเกตได้ว่าน้องเริ่มปรับตัวได้แล้ว เราค่อยเริ่มเข้าหาน้องอย่างช้า ๆ ไม่ควรเข้าหาเร็วเกินไป เพราะน้องอาจตื่นตกใจวิ่งหนีไป และไม่ควรเข้าหาน้องจากทางด้านหลังด้วย อาจใช้วิธีย่อตัวลงต่ำ หรือนั่งรอให้น้องเข้ามาหาเราเอง
เมื่อน้องกระต่ายรู้สึกคุ้ยเคยกับเราแล้ว เราถึงสามารถเล่นและอุ้มน้องได้ ซึ่งวิธีจับกระต่ายนั้นไม่ควรจับโดยการหิ้วหู เพราะจะทำให้น้องเจ็บได้ โดยการอุ้มน้องให้ใช้มือข้างงหนึ่งจับหนังเหนือไหล่ และใช้มืออีกข้างรองก้นไว้ แล้ววางน้องลงบนตักของเราโดยมีผ้ารอง ไม่ควรอุ้มน้องกลับหัวหรือหงายท้อง เว้นแต่จะมีคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีแล้ว ควรระวังให้มาก เพราะหากน้องกระต่ายกระโดดหนีหรือเผลอตก น้องอาจได้รับบาดเจ็บรุนแรงได้
หากเราเลี้ยงกระต่ายเพียงลำพัง ก็ควรมีเวลาเล่นกับน้องด้วยอย่างน้อย 1 – 2 ครั้งต่อวัน เพื่อคลายความเหงาให้น้องและเพิ่มความสนิทสนมกันมากขึ้นด้วย หรือหากเลี้ยงกระต่ายหลายตัวด้วยกันก็จะช่วยคลายความมเหงาได้เป็นอย่างดี แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังต้องหมั่นเล่นกับน้องด้วยนะ
สิ่งสำคัญที่สุดในการเลี้ยงกระต่ายและสัตว์ทุกชนิดคือ เราต้องศึกษาพฤติกรรมและวิธีการเลี้ยงอย่างถูกต้อง และไม่ควรเลี้ยงดูน้อง ๆ อย่างทิ้งขว้าง ควรมอบความรัก การดูแลเอาใจใส่ เพียงเท่านี้เราก็จะได้รับความรักจากน้อง ๆ กลับมาเช่นกัน