วิธีเลี้ยงเม่นแคระ พูดถึงเจ้าตัวกลมขนหนามอย่างเจ้าเม่นแคระ หลายคนอาจจะรู้สึกว่าน้องน่ารัก ตะมุตะมิมาก ๆ และถึงแม้ว่าเม่นแคระจะเป็นที่นิยมเลี้ยงมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีคนไม่น้อยที่ยังกังวลและไม่เข้าใจวิธีการเลี้ยงเม่นแคระอยู่ หากรับมาเลี้ยงแล้วจะดูแลยากหรือเปล่า จะต้องดูแลยังไง กลิ่นจะเหม็นไหม ซึ่งความจริงแล้วน้องเม่นแคระเลี้ยงดูง่ายกว่าที่คิด
แต่ก่อนที่เราจะรับน้องมาเลี้ยงนั้น เราต้องศึกษาวิธีการเลี้ยงเม่นแคระและทำความเข้าใจพฤติกรรมธรรชาติของเจ้าหนามน้อยเสียก่อน และหนึ่งในวิธีการเลี้ยงเม่นแคระนอกจากความพร้อมให้ความรักแล้ว ความพร้อมเรื่องสถานที่และอุปกรณ์ในการเลี้ยงดูก็สำคัญเช่นกัน รวมไปถึงความสะอาดด้วย ลองมาเช็คลิตส์กันหน่อยดีกว่าว่าเราศึกษาวิธีการเลี้ยงเม่นแคระมาดีพอแล้วหรือยัง
วิธีเลี้ยงเม่นแคระ ศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจพฤติกรรมเจ้าหนามน้อย
เจ้าหนามน้อยหรือเม่นแคระ จัดอยู่ในกลุ่มของสัตว์กินแมลงและออกหากินเวลากลางคืน โดยเม่นแคระจะเดินทางได้ราว 5 – 10 กิโลเมตรตลอดทั้งคืน หากอยู่ในพื้นที่จำกัด น้องเม่นก็จะวิ่งวนไปรอบ ๆ ในบริเวณที่สามารถวิ่งไปได้ ดังนั้นน้องเม่นอาจส่งเสียงดังในเวลากลางคืนจากการวิ่งบนจักรล้อหรือการวิ่งชนสิ่งของต่าง ๆ ภายในกรง (อาจรบกวนการพักผ่อนของเราได้) ทั้งยังมีนิสัยชอบมุด ชอบปีนป่าย ด้วยความอยากรู้อยากเห็น และจะขดตัวกลมเป็นก้อนหนามเมื่อถูกรบกวนหรือทำให้ตกใจ ซึ่งพฤติกรรมนี้ถือเป็นพฤติกรรมปกติของน้องเม่นเลยก็ว่าได้
อีกหนึ่งนิสัยของเจ้าก้อนหนามที่เรียกได้ว่าเฉพาะตัวเอามาก ๆ เลยก็คือการ Anointiong/Anting หรือการทา/ชโลม โดยน้องเม่นจะกัดกินสิ่งของบางอย่างที่มีกลิ่นแปลก ๆ และบ้วนน้ำลายออกมาแปะไว้ที่หนามด้านหลังของตัวเอง เพื่อจดจำกลิ่นนั้น ๆ
โดยเม่นแคระที่ไทยเรานิยมเลี้ยงคือสายพันธุ์ African Pygmy Hedgehog (Atelerix Albiventris) เป็นสายพันธุ์ที่เป็นมิตร จากการผสมกันระหว่างเม่นป่าสองสายพันธุ์จากแอฟริกา ซึ่งอายุขัยของเจ้าหนามน้อยจะเฉลี่ยอยู่ที่ 5 – 7 ปี และหากได้รับการเลี้ยงดูที่ดีอาจมีอายุยืนถึง 10 ปีเลยทีเดียว
เตรียมความพร้อมในการรับเลี้ยงและอุปกรณ์การเลี้ยงดู
ก่อนที่เราจะรับน้องเม่นมาเลี้ยงนั้น อย่างแรกที่ต้องทำเลยคือ ถามตัวเองอีกครั้งให้แน่ใจว่าเราอยากเลี้ยงจริง ๆ และพร้อมที่จะดูแลน้องเม่นหรือไม่ เพราะความพร้อมในการเลี้ยงดู ไม่ได้มีเพียงแค่ความรัก ความเอ็นดูเพียงเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความรู้จัก เข้าใจในพฤติกรรม มีพื้นที่และอุปกรณ์ในการเลี้ยงดู รวมไปถึงกำลังทรัพย์ด้วย แม้ว่าการเลี้ยงเม่นแคระจะไม่ได้ใช้กำลังทรัพย์มากนัก แต่ในช่วงเริ่มต้นอาจมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าปกติ
เมื่อเราถามตัวเองจนแน่ใจแล้วก็รับเจ้าหนามอ้วนกลับบ้านมาเลี้ยงได้เลย โดยวิธีรับเจ้าหนามนั้นแนะนำให้ไปเลือกน้องเองที่ฟาร์มจะเป็นการดีที่สุด เพราะเราสามารถตรวจเช็คสุขภาพของน้องเบื้องต้นเองได้เลย หากไม่สะดวกเดินทางไปที่ฟาร์มเอง และติดต่อกับผู้ขายผ่านทางช่องทางออนไลน์ อาจต้องพูดคุยกับผู้ขายอย่างละเอียดรอบคอบเสียก่อนรับน้องมาเลี้ยงจริง ๆ
อุปกรณ์หลัก ๆ ใน วิธีเลี้ยงเม่นแคระ คือ
– พื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เพราะหากเลี้ยงในพื้นที่ปิด อาจมีกลิ่นส่งผลต่อบรรยากาศบริเวณนั้นได้
– กรง บ้านพัก หรือที่อยู่อาศัย อาจเป็นกล่องที่ไม่มีซี่หรือช่อง เพื่อป้องกันไม่ให้น้องสามารถปีนป่ายออกมาได้ โดยขนาดกรงอย่างน้อยที่ควรมีคือ 18 x 24 นิ้ว สูง 16 นิ้ว หรือหากมีพื้นที่กว้างกว่านั้นก็ยิ่งดีต่อน้องเม่น
– สิ่งของจำเป็นสำหรับกรง : ถ้วยอาหาร, กระบอกน้ำดื่ม, บ้านหลบนอน, จักรล้อวิ่ง (แนะนำขนาด 32 เซนติเมตร), วัสดุรองกรง อาจใช้แผ่นรองฉี่แทน ซึ่งสามารถซักและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วย (ไม่แนะนำให้ใช้ขี้เลื่อย หรือสิ่งที่เป็นเศษผงหรือเม็ด โดยเฉพาะกับตัวผู้ เพราะมีโอกาศติดเข้าไปในอวัยวะเพศและอาจเกิดการอักเสบได้) และของเล่นอื่น ๆ
– เสื้อยืดเก่า ๆ ที่ใส่แล้ว นำใส่ไว้ในกรงเพื่อให้น้องได้ซุกนอน ทั้งยังเป็นการให้น้องได้จดจำกลิ่นของเราไปในตัวด้วย
– โฟมอาบน้ำ หรือผ้าชุบน้ำ หรือทิชชู่เปียกที่ไม่ผสมแอลกอฮอล์ น้ำหอม และสารระคายเคืองต่าง ๆ
– อาหารเม่น แบบเม็ดและแมลง
– อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น
วิธีตรวจเช็คสุขภาพเม่นแคระเบื้องต้น
1. น้องเม่นมีการตื่นตัว ระแวดระวัง ไม่เฉี่อยชา
2. ดวงตาใส ขนและหนามสะอาด ผิวหนังสุขภาพดี ไม่มีสะเก็ดแผลหรืออาการบาดเจ็บ
3. เท้าสุขภาพดี เล็บไม่ยาวโค้งงอจนเข้าไปอยู่ใต้เท้า
4. ตรวจดูก้นน้องเม่นว่ามีมูลสีเขียวติดหรือไม่ อาจสังเกตได้จากกรงที่น้องอาศัยอยู่ นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าน้องกำลังมีปัญหาสุขภาพอยู่
5. มีน้ำหนักที่ไม่หนักหรือเบาเกินไป สังเกตได้จากถุงไขมันรอบ ๆ รักแร้ที่มากเกินไป ทำให้ไม่สามารถม้วนตัวกลมเป็นก้อนได้ หรือหากผอมเกินไป ช่วงท้องจะกลวงโบ๋ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาสุขภาพทั้งนั้น
หลังจากที่เราได้พบกับน้องเม่นที่ถูกชะตาแล้ว ก็พาต้าวหนามกลับบ้านกันได้เลย
วิธีการเลี้ยงเม่นแคระ และการเลือกให้อาหาร
สิ่งแรกในวิธีการเลี้ยงเม่นคือการทำให้เจ้าหนามคุ้นเคยกับกลิ่นของเรา นอกจากเสื้อยืดเก่า ๆ ที่ให้น้องซุดนอนแล้ว การเล่นกับน้องเม่นหรืออุ้มขึ้นมาเป็นประจำก็ทำให้น้องจดจำและคุ้นเคยกับเราได้ด้วยเช่นกัน เมื่อน้องเริ่มคุ้นเคยกับเรามากขึ้นแล้ว น้องจะรู้สึกสบายใจและไม่มีอาการขู่หรือขดตัวกลมอีกต่อไป
วิธีการอุ้มน้องเม่นให้สอดมือใต้ท้อง ค่อยๆ ช้อนตัวน้องขึ้นมา แล้วประคองไว้ น้องบางตัวอาจซุกซนและพยายามเดินตลอดเวลา เราก็คอยขยับมือตามแนวทางให้น้องเดิน เพิ่มความสนุกสนานให้น้องได้อีกทางหนึ่งด้วย หรือจะปล่อยไว้บนตักให้น้องเดินเล่นก็ได้เช่นกัน
อาหารที่แนะนำและคู่ควรต่อน้องเม่น คือ ‘อาหารสำหรับเม่นแคระ!’ ย้ำอีกครั้ง อาหารสำหรับเม่นแคระเท่านั้น!! ไม่แนะนำให้นำอาหารแมวให้น้องทาน เพราะในระยะยาวจะส่งผลให้น้องเป็นโรคได้ เราสามารถหาซื้ออาหารเม่นได้จากร้านขายอาหารสัตว์ หรือร้านค้าออนไลน์ก็ได้เช่นกัน
จากข้อมูลที่เราได้ศึกษามาแล้วด้านบน น้องเม่นเป็นสัตว์ทานแมลงเป็นหลัก เราสามารถนำแมลงมาให้น้องทานได้ เพื่อเพิ่มสารอาหารให้แก่ร่างกายน้อง หากสามารถหา ‘หนอนนก‘ มาให้น้องทานได้ก็จะดีต่อน้องมากด้วย เพราะหนอนนกมีโปรตีนสูง มีประโยชน์ต่อตัวน้องเป็นอย่างมาก แต่ไม่ควรให้มากจนเกินไป เพราะส่งผลให้น้องอ้วนและอาจเกิดโรคทางสุขภาพได้ด้วยเช่นกัน อาจให้เพียงครั้งละ 3 – 4 ตัวใน 2 – 3 วัน/สัปดาห์ก็เพียงพอแล้ว
สภาพแวดล้อมและความสะอาด
การจัดที่อยู่ให้น้องเม่นในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกก็เป็นวิธีการเลี้ยงเม่นแคระที่ดีทางหนึ่ง หลีกเลี่ยงพื้นที่เสียงดัง เพื่อไม่ให้น้องตกใจกลัว แต่น้องสามารถทำความคุ้นเคยกับเสียงได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรเสียงดังจนเกินไป และตรวจดูให้ดีว่ามีช่องว่างตรงไหนหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้น้องหลุดรอดออกมา เพราะหากหลุดรอดออกไปได้แล้ว น้องอาจจะไม่กลับมาอีกเลย
การทำความสะอาดกรงควรใช้น้ำร้อนลวกทำความสะอาดชาม กระบอกน้ำ จักรล้อวิ่งและบ้านหลบซ่อนอย่างสม่ำเสมอ และเปลี่ยนวัสดุรองพื้นกรงสัปดาห์ละครั้งหรือบ่อยเท่าที่จำเป็น
การอาบน้ำน้องหนามตั้งแต่ 3 – 4 เดือนขึ้นไป ควรอาบน้ำให้น้องเพียงเดือนละครั้งเท่านั้น แต่หากน้องซนจนสกปรกเร็วกว่าปกติ อาจใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ ทำความสะอาดเพิ่มได้ หากอาบน้ำบ่อยเกินไปอาจทำให้หนามร่วงและผิวหนังหลุดลอกได้
กรณีที่ต้าวเม่นอายุน้อยกว่า 3 เดือน ไม่จำเป็นต้องอาบน้ำ ให้ใช้การใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดแทน ที่สำคัญหลังจากการอาบน้ำต้องเช็ดหรือเป่าตัวน้องให้แห้งด้วย เพื่อลดอาการหงุดหงิดจากพวกไร หมัดและสิ่งสกปรกด้วย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการอาบน้ำจะช่วยกำจัดไร หมัดได้ จะต้องใช้ยาหยอดเพื่อกำจัดไร หมัดเท่านั้น
ระหว่างการเลี้ยงเม่นมีสิ่งที่ควรระวังและหลีกเลี่ยง
– ไม่สวมถุงมือระหว่างการเล่นหรืออุ้มน้องเม่น เพื่อให้น้องสามารถทำความคุ้นเคยกับเราได้เร็วยิ่งขึ้น หากกลัวหนามตำ อาจสวมถุงมือระหว่างการอุ้มน้องออกมาจากกรง และเมื่อน้องเริ่มรู้สึกผ่อนคลายจึงถอดถุงมือออกและอุ้มน้องด้วยมือเปล่า
– ไม่ฉีดน้ำหอมหรือมีกลิ่นน้ำหอมติดตัว เพื่อไม่ให้น้องเกิดความสบสนและอาจทำให้น้องทำความคุ้นเคยกับเราได้ยากมากขึ้นกว่าเดิม
– หลีกเลี่ยงการส่งเสียงดังและทำให้มีเงาพาดตัวจากการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว แม้ว่าน้องจะสายตาไม่ดีนัก แต่ก็มีความไวต่อแสงและเสียงเอามาก ๆ หากส่งเสียงดังจนเกินไปหรือทำให้น้องตกใจ อาจทำให้น้องกลัวและกลับมาขู่อีกได้
วิธีการเลี้ยงเม่นแคระ ที่ดี ควรศึกษาข้อมูลและพฤติกรรมของน้อง และหมั่นดูแลรักษาความสะอาดทั้งกับตัวน้องเองและเราด้วย หรือหากยังมีข้อสงสัย อาจเข้าไปปรึกษาคุณหมอที่คลินิกสัตว์พิเศษ (Exotic) ใกล้บ้าน